คุณรู้หรือไม่ว่า? กรณีที่เราเป็นฝ่ายถูก เราสามารถเรียก “ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม” จากบริษัทประกันของคู่กรณีได้นะ ถึงแม้ว่าคุณอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็เป็นสิทธิประโยชน์ของคุณที่ไม่ควรมองข้ามเลยครับ อย่างน้อยก็เป็นค่าเดินทางเมื่อต้องนำรถส่งเข้าซ่อม เช่น คุณต้องใช้รถยนต์ไปทำงานทุกวัน หากคุณไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อม ก็จะต้องใช้บริการรถเเท็กซี่เอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางส่วนนี้เราก็สามารถเรียกร้องจากประกันคู่กรณีได้เลยครับ แต่ก่อนที่เราจะขอค่าประโยชน์ระหว่างซ่อมรถจากคู่กรณี เราก็จะต้องรู้สิ่งนี้ด้วยนะ!! จะมีอะไรบ้าง มาดูกันครับ
สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนขอค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ
1. ต้องรู้ชื่อ เบอร์ติดต่อ บริษัทประกันของคู่กรณี
อันนี้สำคัญมาก ๆ เลยครับ เนื่องจากข้อมูลติดต่อจะช่วยทำให้คุณตามเรื่องได้ถูกคน กรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูกแล้วต้องจ่ายค่าเดินทางระหว่างรอซ่อมรถเอง คุณก็มีสิทธิ์เรียกร้องขอค่าชดเชยตามมูลค่าจริงได้ แต่ถ้าเราลืมจดเบอร์ติดต่อ หรือชื่อผู้รับเรื่องของบริษัทประกันคู่กรณีล่ะ เราสามารถให้บริษัทประกันเราจ่ายแทนได้หรือไม่? ขอตอบเลยว่า “ไม่ได้ครับ” เพราะค่าขาดประโยชน์ไม่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ (เว้นแต่บางบริษัทที่ทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ไม่ว่าจะถูกหรือผิด จะช่วยออกค่าเดินทางระหว่างซ่อมให้)
ดังนั้น เพื่อผลประโยชน์ของตัวคุณเอง เราจึงจำเป็นต้องทราบรายละเอียดของคู่กรณี และข้อมูลติดต่อบริษัทประกันให้ได้มากที่สุด หรือถ้ามีรูปถ่ายรถของคุณกับรถคู่กรณีเก็บไว้ด้วย ก็ยิ่งดีเลยครับ
2. ต้องรู้เอกสารที่ต้องใช้
ก่อนที่คุณจะเดินทางติดต่อกับทางบริษัทประกันของคู่กรณี ก็จะต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อมด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา คุณจะต้องเตรียมเอกสารสำหรับการร้องขอ ดังนี้
- ใบเสนอรายการความเสียหายของรถยนต์
- ใบเคลม (ใบรับรองความเสียหายต่อทรัพย์สิน)
- สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
- สำเนาทะเบียนรถยนต์
- สำเนาใบขับขี่รถยนต์
- ใบรับรถ หรือหนังสือส่งมอบรถเสร็จ
- รูปถ่ายตอนซ่อมรถ
- หนังสือเรียกร้องสินไหม
- สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร
** หากทางบริษัทประกันของคู่กรณีไม่ยินยอมจ่ายค่าผลประโยชน์ หรือตกลงกันไม่ได้ ก็สามารถส่งเรื่องไปยัง คปภ. ให้ช่วยดำเนินการได้เช่นกัน
3. หลักเกณฑ์
หากคุณต้องการขอค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ แนะนำให้ศึกษาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยระหว่างเดินทาง จากสำนักงาน คปภ. ด้วย ดังต่อไปนี้
- รถยนต์ (ส่วนบุคคล) ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
- รถยนต์ (รับจ้างสาธารณะ) ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
- รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
** สำหรับค่าใช้จ่ายกรณีใช้บริการรถสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่, รถเมล์, รถไฟฟ้า ฯลฯ เราสามารถเรียกร้องจากบริษัทประกันของคู่กรณีได้ตามมูลค่าจริงเท่านั้น
4. เงื่อนไขเบื้องต้น
เวลาเราจะเรียกค่าขาดประโยชน์ฯ จากบริษัทประกันของคู่กรณี เราก็จะต้องรู้เงื่อนไขต่าง ๆ เช่นกัน ไม่ใช่ว่าเกิดอุบัติเหตุรถชนกันแล้ว เราสามารถเรียกร้องได้ทันทีนะครับ โดยหลักการเรียกขอค่าขาดประโยชน์ระหว่างเดินทาง จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามนี้
- เงื่อนไขแรก คือ เราจะต้องเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น (ยกเว้นบางบริษัทประกันที่ทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด เราจะได้รับค่าเดินทางระหว่างซ่อมรถ)
- เงื่อนไขที่สอง คือ รถของคู่กรณีต้องทำประกันรถยนต์เอาไว้ (ไม่ว่าจะเป็นประกันชั้นอะไรก็ตาม)
ดังนั้น เราจะต้องศึกษาเงื่อนไขการเรียกค่าขาดประโยชน์ให้ดีซะก่อน หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เราก็จะสามารถใช้สิทธิ์ของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อความคุ้มครองใดๆ เพิ่มเติม หรือไม่ต้องจ่ายค่าเดินทางที่เกิดขึ้นระหว่างซ่อมรถเอาเองครับ
เห็นไหมล่ะ ว่ากรณีรถยนต์ของคุณถูกชน คุณก็สามารถเรียกค่าประโยชน์จากประกันของคู่กรณีได้ ถึงแม้บางบริษัทประกันอาจจะไม่เคยบอกคุณ แต่ถ้าคุณรู้สิ่งนี้ก่อน ก็จะช่วยรักษาสิทธิ์ของคุณครับ แล้วที่สำคัญเราก็ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม และเผื่อเวลาดำเนินเรื่องด้วยนะ เพื่อจะได้รับผลประโยชน์ค่าเดินทางระหว่างซ่อมรถของคุณตามที่กำหนด เอาเป็นว่า ยิ่งรู้ไว้ก่อน ยิ่งไม่เสียสิทธิ์ครับ!!
ขอบคุณข้อมูลจาก : frank.co.th ประกันที่รวดเร็ว เรียบง่าย และจริงใจกับคุณ