
ท่านั่งขับรถ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ เพราะหากนั่งผิดท่า หรือปรับเบาะนั่งไม่เหมาะสมกับสรีระร่างกาย ก็อาจทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า ปวดหลัง ไปจนถึงปวดเมื่อยช่วงต้นขาและแขน ซึ่งหากปล่อยไปนานๆ อาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม หรือมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ วันนี้ masii ก็มีคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับ ท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง และการปรับท่านั่งไม่ให้ปวดหลัง มาฝากกัน ไปดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
ท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง ปรับท่านั่งอย่างไรไม่ให้ปวดหลัง
เวลาขับรถหลายคนอาจไม่รู้ตัวว่าเผลอนั่งผิดท่าที่ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ ไม่ว่าจะเป็น ก้มหน้ามากเกินไป นั่งหลังงอ หรือนั่งเอียงตัว เป็นต้น ว่าแล้วไปดูกันเลยดีกว่าว่าควรปรับท่านั่งอย่างไรไม่ให้ปวดหลังบ้าง
1. นั่งให้เต็มเบาะ
เพื่อการนั่งขับรถที่เหมาะสม เราควรนั่งให้เต็มเบาะ โดยขยับแผ่นหลัง สะโพก และต้นขาให้ชิดเบาะด้านในมากที่สุด เพื่อที่เบาะรถจะได้โอบรับสรีระทุกส่วนของร่างกาย และเพื่อความมั่นคงในการขับขี่ และลดอาการปวดเมื่อย
2. ปรับระยะห่างเบาะให้พอดี
นอกจากการนั่งเต็มเบาะแล้ว ควรปรับระยะห่างของเบาะนั่งให้พอดี ไม่ชิดพวงมาลัยมากเกินไป หรือไกลเกินไป โดยใช้วิธีสอดเท้าไปที่พื้นรถหลังแป้นเบรก จากนั้นปรับเบาะให้สามารถงอเข่าได้เล็กน้อย เพื่อให้เหยียบเบรกและคันเร่งได้เต็มที่ ทั้งยังช่วยลดการบาดเจ็บ หากเกิดการชนจากด้านหน้า
3. ปรับความสูงของเบาะ
รู้ไหมว่าความสูงของเบาะนั้นก็สำคัญ เพราะมีผลต่อแผ่นหลังของเราโดยตรง หากปรับความสูงต่ำไปจะทำให้นั่งตัวงอ ส่งผลต่อกระดูกสันหลังและทำให้ปวดหลังได้ จึงควรปรับความสูงของเบาะรถให้เหลือระยะห่างระหว่างศีรษะกับเพดานรถเท่ากับหนึ่งกำปั้น พร้อมกับยกปลายเบาะให้เงยขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้มองเห็นทัศนวิสัยได้ชัดเจน และควบคุมรถได้ง่าย
4. เอนพนักพิงเล็กน้อย
การปรับเบาะให้พอดีกับแผ่นหลัง ช่วยลดอาการปวดหลังได้ โดยควรปรับพนักพิงให้เอนเล็กน้อย ประมาณ 110 องศา หรือสามารถนำมือไปวางบนพวงมาลัยได้ถนัด แขนไม่เกร็งเกินไป เพื่อให้มีระยะห่างจากพวงมาลัยที่เหมาะสม ช่วยให้ควบคุมรถได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถปรับหัวเบาะให้พอดีกับศีรษะ หรือใช้หมอนรองคอเสริม ไม่เพียงแต่จะลดอาการปวดเมื่อยต้นคอแล้ว ยังช่วยลดแรงกระแทกจากอุบัติเหตุอีกด้วย
5. ปรับมุมจับพวงมาลัยให้อยู่ในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา
การจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมก็อาจทำให้ปวดหลังขณะขับรถได้ ดังนั้น จึงควรปรับพวงมาลัยให้พอดี มีความสูงไม่เกินช่วงไหล่ และปรับมุมจับพวงมาลัยให้อยู่ในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา จะช่วยให้หมุนพวงมาลัยได้รวดเร็ว พวงมาลัยหลุดมือยาก และลดการปวดเมื่อยช่วงหัวไหล่ นอกจากนี้ควรดูช่วงงอของแขนให้อยู่ในมุมที่เหมาะสม สามารถวางข้อมือบนพวงมาลัยได้พอดีโดยที่ตัวยังแนบอยู่กับเบาะหรือเปล่า ไม่ควรเหยียดแขนตึงเกินไป และไม่งอแขนจนเกินไป จะทำให้หมุนพวงมาลัยไม่ถนัด
6. ปรับกระจกมองข้างและกระจกมองหลัง
ไม่เพียงแต่จะปรับเบาะนั่งแล้ว กระจกมองข้างและกระจกมองหลังก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ หากเพื่อนๆ ต้องเอี้ยวตัว หรือเอียงศีรษะหันไปมา ก็คงไม่ดี แถมยังทำให้ปวดเมื่อยได้อีกต่างหาก ดังนั้นเราจึงต้องปรับกระจกมองข้างและกระจกมองหลังให้ชัดเจน โดยกระจกข้างควรตั้งฉากกับตัวรถ อย่าให้เห็นตัวรถมากเกินไป จะทำให้ไม่เห็นรถคันอื่น ส่วนกระจกมองหลังปรับแบบตรงๆ ให้พอดีกับสายตาเวลาขับรถ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้มองกระจกได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องขยับตัวบ่อยๆ นอกจากจะลดอาการปวดคอ และปวดหลังแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยขณะขับขี่อีกด้วย
การปรับท่านั่งตามที่แนะนำไปทั้งหมด จะทำให้ผู้ขับสามารถควบคุมรถได้ง่ายขึ้นในทุกสถานการณ์ ช่วยลดอาการเมื่อยล้าตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้ความเครียดในขณะขับขี่ลดลงอีกด้วย สำหรับบางคน อาจรู้สึกไม่ถนัดเมื่อเริ่มทำในครั้งแรก แต่หลังจากที่ปรับตัวได้ จะพบว่า ท่านั่งที่ถูกต้อง ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่ได้ดีมาก
เมื่อได้ทราบท่านั่งขับรถที่ถูกต้อง และวิธีปรับท่านั่งให้เหมาะสมแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปรับใช้กันด้วยนะคะ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดอาการปวดหลัง หรือปวดเมื่อยร่างกายแล้ว ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่อีกด้วย แต่ทั้งนี้เพื่อนๆ ก็ควรขับรถกันอย่างปลอดภัย ไม่ประมาท เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ และหากใครอยากได้ความคุ้มครองเพิ่มเติม สามารถ ทำประกันรถยนต์กับเว็บไซต์มาสิได้ง่ายๆ เพียง คลิกที่นี่
สนใจสมัครประกันรถยนต์

หรือหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถโทร.มาพูดคุยกับทีมงานมาสิได้ที่ 02 710 3100 หรือแอดไลน์มาเป็นเพื่อนกับเราที่ @masii (มี @ ด้วยนะ) เพื่อติดตามข่าวสารและบทความดีๆ เกี่ยวกับ ประกันรถยนต์ ประกันมอเตอร์ไซค์ ประกันเดินทาง ประกันสุขภาพ รวมถึง สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตจากสถาบันการเงินชั้นนำ