คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน

คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน
คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน
สมัครรถแลกเงินโปรโมชั่น แจกฟรี Voucher Lazada

หากพูดถึงบุคคลผู้เป็นต้นแบบแห่งการประหยัดอดออม คงไม่มีใครไม่นึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวง รัชกาลที่ 9 หรือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีแนวคิดการออมเงิน และการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และเพื่อเป็นการน้อมเพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน วันนี้ masii จึงขอนำหลักแนวคิดและคำสอนของในหลวง รัชกาลที่ 9 เกี่ยวกับการเงิน มาฝากกัน เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม

คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระมหากษัตริย์นักออมเงิน” เนื่องจากพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการออมตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตามที่สมเด็จย่าทรงสั่งสอนให้รู้จักการอดออม ซึ่งพระองค์ได้ทรงยึดเป็นแนวทางปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี ทั้งยังทรงมีแนวพระราชดำริให้ทุกคนรู้จักการบริหารเงินด้วยตนเอง ดังนี้

1. ปลูกฝังการอดออมตั้งแต่เด็ก

หากอยากให้เด็กๆ รู้จักการอดออมและใช้เงินอย่างรู้คุณค่า คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังการอดออมให้ลูกๆ ตั้งแต่ยังเด็ก ดังเช่นที่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการปลูกฝังเรื่องการออมเงินจากสมเด็จย่า ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ โดยทรงได้รับเงินค่าขนมเพียงอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้รู้จักการบริหารเงินด้วยตนเอง สามารถใช้เงินที่ได้มาอย่างเพียงพอ ไม่ใช้เงินฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน

2. รู้จักออมเงิน

นอกจากในหลวง รัชกาลที่ 9 จะทรงได้รับเงินค่าขนมเป็นรายสัปดาห์แล้ว สมเด็จย่ายังทรงสอนให้พระองค์รู้จักออมเงิน หากอยากได้อะไรให้เก็บเงินซื้อด้วยพระองค์เอง โดยตอนที่พระองค์ทรงเรียนหนังสืออยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ได้กราบทูลสมเด็จย่าว่าอยากได้จักรยาน สมเด็จย่าก็ได้รับสั่งตอบไปว่า “ลูกอยากได้จักรยาน ลูกก็ต้องเก็บสตางค์ที่แม่ให้ไปกินที่โรงเรียนไว้สิ หยอดกระป๋องวันละเหรียญสองเหรียญ เมื่อได้มากพอค่อยเอาไปซื้อ” หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงเริ่มเก็บออมเงิน และนำเงินออมที่ได้ไปซื้อของส่วนพระองค์ เช่น ของเล่น กล้องถ่ายรูป และ คลาริเน็ต ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่พระองค์ทรงเก็บเงินซื้อเอง

คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน

3. ออมเงินด้วยบัญชีเงินฝาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงเก็บออมเงินด้วยบัญชีเงินฝากกับธนาคารมาอย่างต่อเนื่อง ตามคำสอนของสมเด็จย่า โดยจะมีสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารออมสินส่วนพระองค์ ซึ่งมีเงินฝากเข้าเป็นประจำทุกๆ ปี ทั้งนี้พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการออมเงินเป็นอย่างมาก และได้มีพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2518 ความว่า

“ถ้าเราสะสมเงินให้มาก เราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ยโดยไม่แตะต้องทุน แต่ถ้าเราใช้มากเกินไปหรือเราไม่ระวัง เรากินเข้าไปเป็นทุน ทุนมันก็น้อยลงๆ จนหมด”

4. รู้จักประหยัด ใช้ของอย่างรู้คุณค่า

ดังที่คนไทยทุกคนทราบกันดีว่าพระองค์ทรงเป็นต้นแบบแห่งการประหยัด มัธยัสถ์ โดยเห็นได้จากของใช้ส่วนพระองค์ที่ทรงใช้อย่างรู้คุณค่า และคุ้มค่ามากที่สุด ดังเช่น หลอดยาสีพระทนต์ ที่ทรงใช้จนแบนราบราวกับแผ่นกระดาษ หรือดินสอทรงงาน ที่ใช้จนกุดสั้น โดยพระองค์ได้มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.  2559 ความตอนว่า

“การประหยัดอดออมเป็นรากฐานในการสร้างตัวสร้างฐานะของบุคคล ตลอดจนความเจริญมั่นคงของสังคม และชาติบ้านเมือง”

5. ทำบัญชีครัวเรือน รู้รายรับรายจ่ายของครอบครัว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มแนวคิดการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนของคนไทย  โดยให้ทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายภายในครอบครัว เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าในเดือนนี้ มีรายได้เท่าไร รายจ่ายเท่าไร และมีเงินเหลือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าครอบครัวใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีสิ่งไหนจำเป็น หรือไม่จำเป็นที่ควรต้องตัดทิ้งออกไปไหม ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยให้คนไทยรู้จักจัดสรรเงินไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเก็บออมในอนาคตนั่นเอง

คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน

6. รู้จักความพอเพียง พอประมาณ

ความพอเพียง คือ การใช้อย่างพอประมาณ ใช้เท่าที่มี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น หากต้องการสิ่งใดก็ควรเลือกสิ่งที่คุ้มค่า มีราคาเหมาะสม และตรงกับการใช้งานของเรามากที่สุด ดังที่พระองค์ได้เคยทรงตรัสไว้ในพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ความตอนหนึ่งว่า

“พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ”

7. รู้จักลงทุนเพื่ออนาคต

ไม่เพียงแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเป็นต้นแบบแห่งการออมเงินแล้ว พระองค์ยังทรงนำเงินออมไปใช้ในการลงทุนด้วย ซึ่งเห็นได้จากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในปี พ.ศ. 2504 ที่พระองค์ทรงลงทุนจากเงินสะสมส่วนพระองค์เพียง 32,866.73 บาท มาริเริ่มเป็นโครงการด้านการเกษตร เช่น การปลูกข้าว การเลี้ยงโคนม รวมไปถึงการเลี้ยงปลานิล ที่พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลที่ได้รับการถวายมาจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และทรงเพาะพันธุ์จนปลานิลขยายพันธุ์จำนวนมาก จากนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานปลานิลแก่กรมประมงให้นำไปปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วประเทศ จนปลานิลกลายเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสร้างอาชีพของคนไทยในปัจจุบัน

คำสอนของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการเงิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นต้นแบบในเรื่องการประหยัดอดออม เพราะทรงมีแนวคิดการเก็บออมเงิน และการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้คนไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระมหากษัตริย์นักออมเงิน” ที่คนไทยทุกคนควรยึดถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติเพื่อความอยู่ดีมีสุขของตนเองและครอบครัว

ขอบคุณภาพจาก :  สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ