ทราบกันดีว่า โครงการหลวงนั้น ถือเป็นโครงการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการที่จะช่วยเหลือชาวเขาบนดอยสูงให้มีที่ทำกินและมีอาชีพทำกินทดแทนการปลูกฝิ่น รวมถึงช่วยเพิ่มพื้นที่ของทรัพยากรป่าไม้รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ส่วนจุดเริ่มต้นของโครงการหลวงนั้น เกิดจากเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท ร่วมกับเงินที่มีผู้ทูลเกล้าถวายมาใช้ในการดำเนินการจัดตั้งโครงการโดยมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการดูแล “โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” ที่ตั้งอยู่ที่บริเวณหุบเขาสูงของดอยอ่างขาง ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่เป็นที่แรก ด้วยลักษณะของหุบเขายาวล้อมรอบด้วยภูเขาทุกด้าน ด้านเหนือติดประเทศพม่า บริเวณดังกล่าวมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร และมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
ด้วยพระเมตตา ร่วมกับสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมองเห็นว่าหากปล่อยให้มีการปลูกฝิ่นตามดอยสูงต่อไปก็จะส่งให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพชีวิตการดำเนินชีวิตของชาวเขาบนดอยสูง รวมไปถึงทรัพยากรป่าไม้ตามธรรมชาติที่จะต้องถูกทำลายเพื่อนำที่มาทำไร่ฝิ่น ดังนั้นการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อนำมาจัดตั้งเป็น“โครงการหลวงพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา” นอกจากจะสามารถช่วยพลิกฟื้นผืนดินและป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งพร้อมกับการสร้างชีวิตใหม่ให้กับชาวเขาให้มีที่ทำกิน ไม่ต้องปลูกฝิ่นอีกต่อไป
ส่วนผลงานของโครงการหลวงในระยะแรกที่ได้มีการวิจัยและพัฒนาอาชีพเพื่อชาวเขาตามแนวพระราชดำรินั้นมีมากมายไม่ว่าจะเป็น
- ถั่วแดงหลวง ที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้มีการนำเมล็ดพันธุ์ถั่วแดงพันธุ์ darkled redcoat และ maintopพร้อมทั้งถั่วไลมา (lima) ถั่วปินโต (pinto) จากบริษัท Dessert Seed สหรัฐอเมริกา ไปทดลองปลูกตามดอยต่ง ๆ ปรากฏว่าได้ผลดีที่ บ้านวังดิน ผาหมี สะโมง และดอยงาม จึงได้มีการนำไปเพาะปลูกจนกลายมาเป็นพืชหลักในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกทนแทนฝิ่นได้
- สตรอเบอรี่ที่ได้มีการนำพันธุ์จากต่างประเทศมาทดลองปลูกประมาณ 40 พันธุ์ คัดไว้ได้ 2 พันธุ์เพื่อให้ชาวบ้านได้ทดลองปลูกคือพันธุ์พระราชทานเบอร์ 16 และพันธุ์พระราชทาน 80 ที่ได้มีการปรับปรุงพันธ์จนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทยและเป็นพันธุ์ที่นิยมของผู้บริโภค
- กาแฟอราบิก้า ที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้มอบหมายให้ทำการวิจัยเพื่อปลูกอาราบิก้าบนพื้นที่โครงการหลวง ด้วยการใช้สายพันธุ์กาแฟอาราบิกาต้านทานโรคราสนิม รวมถึงการศึกษาด้านการปฏิบัติรักษาการปลูกกาแฟอราบิก้าด้านต่างๆ โดยทุนการวิจัยจาก USDA/ARS พบว่าสามารถปลูกได้ดีบนพื้นที่เกษตรชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงบ้านหนองหล่ม ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการเพาะปลูกกาแฟอาราบิก้าสำเร็จ ส่งผลให้เป็นขวัญและกำลังใจต่องานวิจัยและพัฒนาการปลูกกาแฟอราบิก้า จนทำให้กาแฟชนิดนี้กลายเป็นพืชสำคัญของเกษตรบนพื้นที่สูงในปัจจุบัน