ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันยังคงน่าเป็นห่วง แม้จะเริ่มมีการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 มาฉีดให้กับประชาชนแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นถกเถียงตามมามากมายว่า ตลาดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นของผู้ซื้อหรือเป็นของผู้ขายกันแน่ วันนี้ masii เลยนำบทความที่น่าสนใจมาฝาก มาดูว่าตกลงแล้ว ตลาดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ปี 2021 เป็นของผู้ซื้อหรือเป็นของผู้ขายกันแน่?
ความจริงโลกไม่สวย ชาติร่ำรวยกักตุนวัคซีน ยิ่งทำให้โควิดกลายพันธุ์
แต่ก่อนที่ “เรา” จะไปกันต่อประเด็นแรกที่ “ควรทดไว้ในใจ” ก่อนที่จะไปยังบรรทัดต่อไปและต่อๆ ไป คือ…
- ปริมาณวัคซีนต้านโควิด-19 ขั้นต่ำ ที่คาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการฉีดให้กับประชากรทั้งโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อยู่ที่ประมาณ 10,820 ล้านโดส (จำนวนประชากรโลกอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านคน) ในกรณีฉีดวัคซีน 2 เข็ม
- โครงการ COVAX ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องจัดหาวัคซีนรวม 2,000 ล้านโดส เพื่อบริจาคและขายในราคามิตรภาพให้แก่ผู้คนใน 190 ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ 92 ประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีประชากรอย่างน้อย 20% ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
การคาดการณ์ปริมาณการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกในช่วงสิ้นปี 2021 นี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ Airfinity บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อยู่ที่ประมาณ 12,200 ล้านโดส โดยแยกเป็นการผลิตจากชาติตะวันตกประมาณ 6,500 ล้านโดส และจากทางประเทศจีนอีกประมาณ 5,700 ล้านโดส
*หมายเหตุ: ข้อมูลล่าสุดของ Airfinity ตัวเลขประเมินการผลิตวัคซีนของชาติตะวันตกสูงกว่าข้อมูลของ Boston Consulting Group หรือ BCG บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ซึ่งได้ประเมินปริมาณวัคซีนโควิด-19 จากเฉพาะชาติตะวันตกเอาไว้ก่อนหน้าว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,400 ล้านโดสเท่านั้น
ส่วนกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกต่อเดือน อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านโดส และมีแนวโน้มว่ากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ ปริมาณการผลิตรวมล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณเกินกว่า 6,000 ล้านโดสแล้ว
“ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้”
โดยสิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือ ตัวเลขการฉีดวัคซีนมากกว่า 5,000 ล้านโดสทั่วโลก ณ ปัจจุบันนั้น มากกว่า 75% เป็นการบริหารจัดการฉีดวัคซีนใน 10 ประเทศ (ร่ำรวย) เท่านั้น ในขณะที่ ผู้คนในทวีปแอฟริกาได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเพียงประมาณ 2% เท่านั้น!
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังได้เรียกร้องให้ชาติร่ำรวยปฏิบัติตามคำมั่นเรื่องกำหนดการส่งมอบวัคซีนให้กับโครงการ COVAX อย่างจริงจัง รวมถึงแบ่งปันเทคโนโลยีและสนับสนุนเรื่องการผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาคต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ด้าน นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษและทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ กระแทกใส่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำกลุ่ม G7 เร่งปล่อยวัคซีนที่กักตุนไว้ออกมาให้กับบรรดาชาติกำลังพัฒนาและประเทศยากจนที่กำลังขาดแคลนวัคซีนว่า…
“เรากำลังอยู่ในการแข่งขันเพื่อจัดหาอาวุธครั้งใหม่ นั่นก็คือ การนำวัคซีนไปให้กับพลเมืองของตัวเองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากแต่การแข่งขันเพื่อจัดหาอาวุธครั้งใหม่นี้ ชาติตะวันตกเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบมากกว่าใครๆ ในการเรื่องอุปทานวัคซีน”
ซึ่งความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดต่างมองในประเด็นนี้ตรงกันว่า “ความเหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงวัคซีน จากการกักตุนที่มากเกินพอดีของชาติร่ำรวย นอกจากจะเป็นผลร้ายต่อความพยายามในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ยังจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการที่ไวรัสจะกลายพันธุ์จากการแพร่ระบาดในประชากรกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย
ข้อมูลจาก : thairath.co.th
สนใจสมัครประกันโควิด-19
การฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามหากใครที่ต้องการความอุ่นใจ สามารถ สมัครประกันโควิด-19 กับมาสิได้ง่ายๆ ที่ 02 710 3100 หรือแอดไลน์ @masii เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสุขภาพ ประกันโควิด-19 รวมถึงการซื้อประกันภัยรถยนต์ ประกันมอเตอร์ไซค์ หรือหากใครต้องการกู้เงินด่วน สมัครสินเชื่อส่วนบุคคล ก็สามารถติดต่อกับมาสิได้เช่นกันค่ะ