สงกรานต์พระประแดง 2567 อีกหนึ่งงานสงกรานต์ที่มีชื่อเสียงของภาคกลาง เนื่องจากเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา มีเอกลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่น และมีจุดเด่นเรื่องช่วงระยะเวลาจัดงานที่แตกต่างจากวันสงกรานต์ทั่วไป สงกรานต์พระประแดงปีนี้จัดวันไหน มีความน่าสนใจอะไรบ้าง ไทยรัฐออนไลน์รวบรวมมาให้แล้ว
ประวัติสงกรานต์พระประแดง มีความเป็นมาอย่างไร?
สงกรานต์พระประแดง คือ ประเพณีวันสงกรานต์ของชาวบ้านในพื้นที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งงานจะจัดช้ากว่าเทศกาลสงกรานต์ทั่วไปประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเป็นงานที่ผสมผสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยและชาวมอญไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้ “สงกรานต์พระประแดง” แต่เดิมมีชื่อเรียกว่า “สงกรานต์ปากลัด” ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองพระประแดง (เดิมเรียกว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์) มาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) เนื่องจากในอดีตเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองหน้าด่าน ที่มีไว้ป้องกันข้าศึกที่ยกทัพมาทางทะเลและปากแม่น้ำเจ้าพระยา
รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญที่อาศัยกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ฯลฯ มาอาศัยอยู่ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ ทำให้มีชาวมอญอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าชาวมอญนั้นได้เริ่มอพยพเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่อำเภอพระประแดง มีทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยอยู่ร่วมกันมาช้านาน เกิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-มอญ โดยหนึ่งในประเพณีที่มีชื่อเสียงก็คือ สงกรานต์พระประแดง ซึ่งชาวสมุทรปราการได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์เพื่อเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทยเป็นประจำทุกปี
ประเพณีวันสงกรานต์พระประแดง 2567 เริ่มวันไหน?
สงกรานต์พระประแดง 2567 ตรงกับวันที่ 19-21 เมษายน 2567 โดยจัดขึ้นในพื้นที่ของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ถือเป็นหนึ่งในประเพณีท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงทั้งในบรรดานักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ
กิจกรรมภายในงานสงกรานต์พระประแดง 2567
เมื่อถึงช่วงเดือนเมษายน ก่อนถึงวันสงกรานต์พระประแดง 2567 ชาวมอญจะมีสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน นั่นคือการทำความสะอาดบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย มีการเตรียมเสื้อผ้าใหม่ เสื้อผ้าสีสดใส มีประเพณีทำขนมกวน รวมถึงทำบุญทำทานต้อนรับเทศกาลวันปีใหม่ไทย
ในช่วงเช้าของวันสงกรานต์ของชาวมอญ จะมีการทำบุญข้าวแช่และถวายข้าวสงกรานต์ต่อท้าวมหาสงกรานต์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือตามความเชื่อ ในช่วงสายลูกหลานก็จะรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ส่วนในช่วงเย็นก็จะไปสรงน้ำพระที่วัด นำน้ำอบไปไหว้อัฐิของบรรพบุรุษ และในช่วงกลางคืนจะมีกิจกรรมละเล่นพื้นบ้าน
ขณะเดียวกันตลอดช่วงเทศกาล วันสงกรานต์พระประแดง 2567 ก็จะมีการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ถือเป็นงานใหญ่ประจำปี พร้อมกับมีการแห่รถนางสงกรานต์ จัดงานรื่นเริง และมีการจำหน่ายสินค้า อาหารพื้นบ้าน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย นับเป็นสีสันที่นักท่องเที่ยวรอไปเที่ยวชมในทุกๆ วันสงกรานต์
ที่มาของข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการ
สงกรานต์พระประแดง 2567 ห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำ-ติดลำโพงเข้า 13 เส้นทาง
สถานีตำรวจภูธรพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ประชาสัมพันธ์ งานสงกรานต์พระประแดงปี 67 วันที่ 21 เม.ย.นี้ ห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำทุกชนิด หรือบรรทุกน้ำพร้อมคนเล่นสาดน้ำเข้า และห้ามรถติดเครื่องขยายเสียงเข้า 13 เส้นทาง เหตุกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนนแคบการจราจรติดขัด ชาวบ้านเดือดร้อน
วันนี้ (15 เม.ย.) สถานีตำรวจภูธรพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ประกาศว่า ประเพณีสงกรานต์พระประแดง 21 เม.ย. 2567 ห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำทุกชนิด หรืออุปกรณ์บรรทุกน้ำพร้อมคน เพื่อเล่นสาดน้ำ เดินรถหรือจอดรถ และห้ามนำรถที่ติดเครื่องขยายเสียง มาใช้บนทางระหว่างเวลา 06.00-20.00 น. ทั้งเส้นทางหลักและถนนซอย รวม 13 เส้นทาง โดยให้เหตุผลว่า ด้วยปัจจุบันบนถนนสุขสวัสดิ์มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง จึงทำให้พื้นผิวการจราจรแคบลงเกิดปัญหาการจราจรติดขัด และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและพักอาศัยอยู่บริเวณถนนสุขสวัสดิ์เป็นวงกว้าง
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ได้ออกข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรจังหวัดสมุทรปราการ ว่าด้วยการห้ามรถยนต์ทุกชนิดบรรทุกน้ำหรืออุปกรณ์บรรทุกน้ำพร้อมคน เพื่อสาดน้ำ เดินรถ หรือจอดรถ และห้ามนํารถติดตั้งเครื่องขยายเสียงมาใช้ และการห้ามจอดรถกีดขวางการจราจรในถนนบางสาย เขตอําเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2567 ลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 5 เม.ย. 2567 ระบุว่า ด้วยสํานักงานเทศบาลเมืองพระประแดง ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ อําเภอพระประแดง ศูนย์วัฒนธรรม อําเภอพระประแดง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน พร้อมด้วยประชาชนชาวอําเภอพระประแดง กําหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของชาวพระประแดง กําหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์พระประแดง ในวันอาทิตย์ที่ 21 เม.ย. 2567 ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยในการจราจร ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานะหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรจังหวัดสมุทรปราการ จึงออกข้อบังคับไว้ โดยให้ใช้บังคับในวันดังกล่าว สาระสำคัญของข้อบังคับก็คือ
ห้ามรถยนต์บรรทุกน้ำหรืออุปกรณ์บรรทุกน้ำพร้อมคน เพื่อเล่นสาดน้ำ เดินรถ หรือจอดรถ และห้ามนํารถติดตั้งเครื่องขยายเสียง มาใช้ในถนนระหว่างเวลา 06.00-20.00 น. ในถนนดังต่อไปนี้
– ถนนนครเขื่อนขันธ์ ตลอดสาย
– ถนนศรีเขื่อนขันธ์ ตลอดสาย
– ถนนเพชรหึงษ์ แยกทรงธรรม
– ถนนพระราชวิริยาภรณ์ ตลอดสาย
– ถนนซอยสุขสวัสดิ์ 39 ตลอดสาย
– ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม
– ถนนซอยสุขสวัสดิ์ 70 ตลอดสาย (ถนนครุในตัดใหม่)
– ถนนซอยสุขสวัสดิ์ 74 ตลอดสาย (ซอยวัดชมนิมิต)
– ถนนซอยสุขสวัสดิ์ 76 ตลอดสาย (ซอยกลับเจริญ)
– ถนนซอยสุขสวัสดิ์ 78 ตลอดสาย (ซอยวัดซังเรื่อง)
– ถนนทรงธรรม ตลอดสาย
– ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ตั้งแต่สามแยกปู่เจ้าสมิงพราย ถึงท่าน้ำวัดแหลม
– ถนนสุขสวัสดิ์ เขตติดต่อสถานีตํารวจนครบาลราษฎร์บูรณะ ถึงเขตติดต่อสถานีตํารวจภูธรพระสมุทรเจดีย์
ห้ามจอดรถทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ในถนนดังต่อไปนี้
– ถนนนครเขื่อนขันธ์ ตลอดสาย
– ถนนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตลอดสาย
– ถนนพระยาพายัพพิริยะกิจ ตั้งแต่ทางแยกตัดกับถนนนครเขื่อนขันธ์ ถึงทางแยกตัดกับถนนศรีเขื่อนขันธ์ (หลังป้อมแผลงไฟฟ้า)
– ถนนสุขสวัสดิ์ ตั้งแต่เขตติดต่อสถานีตํารวจนครบาลราษฎร์บูรณะ ถึงเขตติดต่อสถานีตํารวจภูธรพระสมุทรเจดีย์
ห้ามเดินรถทุกชนิด ระหว่างเวลา 13.00-20.00 น. ในถนนดังต่อไปนี้
– ถนนนครเขื่อนขันธ์ ตลอดสาย
– ถนนศรีเขื่อนขันธ์ ตลอดสาย
– ถนนทรงธรรม ตลอดสาย
– ถนนพระราชวิริยาภรณ์ ตั้งแต่ทางแยกตัดกับถนนนครเขื่อนขันธ์ ถึงหน้าวัดรวก
– ถนนเพชรหึงษ์ ตั้งแต่แยกเพชรหึงษ์ ถึงสะพานคลองลัดโพธิ์
– ถนนซอยสุขสวัสดิ์ 39 ตั้งแต่เชิงสะพานวัดแค ถึงสามแยกตัดกับถนนพระยาพายัพพิริยะกิจ
อนึ่ง สำหรับงานสงกรานต์พระประแดง ประจำปี 2567 มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-21 เม.ย. 2567 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ มีการแสดงแสง สี เสียง เรื่อง “ตำนานนางสงกรานต์” ที่อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า มีการละเล่นสะบ้าบ่อน ซึ่งเป็นการละเล่นโบราณของชาวไทยเชื้อสายมอญ การแสดงทะแยมอญ มีการประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย ประจำปี 2567 รวมถึงมีคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง “จ๊ะ นงผณี” ในวันที่ 21 เม.ย. 2567 อีกด้วย