มหากาพย์ประกันโควิด-19 แผนเจอจ่ายจบ ยังคงเป็นประเด็นอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่ที่บริษัทประกันบางเจ้าได้ยกเลิกกรมธรรม์ไป จนทำให้ทางคปภ. ต้องออกมาสั่งห้ามไม่ให้บริษัทประกันยกเลิกกรมธรรม์นั้น ก็เป็นผลให้บริษัทประกันหลายแห่งมีการจ่ายเงินเคลมประกันล่าช้า จนเกิดมีการประท้วงเรียกร้องกันมากขึ้น เราไปติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของข่าวนี้กับ masii กันเลยค่ะ
“ไม่จ่าย – ไม่จบ”มหากาพย์ประกันโควิด
จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลให้ ประกันโควิด-19 ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บริษัทประกันต่างได้กำไรดี อู้ฟู่กันถ้วนหน้า แต่ในปี 2564 สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรง ยอดเคลมประกันพุ่งสูง ค่ายประกันต่างๆ ปรับแผนกันยกใหญ่ “ล็อกความเสี่ยง” โดยเฉพาะประกาศเลิกขายประกันประเภทเจอจ่ายจบ เพราะแบกรับความเสี่ยงสูง กระทบเงินสำรองบริษัท เน้นออกผลิตภัณฑ์ใหม่ดูแลค่ารักษา ชดเชยรายวัน แพ้วัคซีน
ทว่า บางค่ายไม่ใช่แค่ปรับแผนแต่ถึงขั้นประกาศยกเลิกกรมธรรม์แบบไม่มีปี่มีขลุย อย่าง บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บอกเลิกสัญญาโควิด-19 รูปแบบเจอจ่ายจบตรวจพบเชื้อรับเงินก้อน กระทั่ง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกมาไล่บี้สั่งห้ามบริษัทประกันภัย บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จนท้ายที่สุดต้องกลับลำยกเลิกหนังสือบอกเลิกประกันโควิด
สำหรับข้อมูล ณ ปัจจุบัน ตัวเลขกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีจำนวนกว่า 20 ล้านกรมธรรม์ โดยประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบมีจำนวน 7 ล้านกรมธรรม์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 บริษัทประกันวินาศภัย มียอดเคลมประกันโควิด-19 สูงขึ้นกว่า 10 เท่า และคาดการณ์ว่าในเดือนกันยายนยอดเคลมจะทะลุ 1.2 หมื่นล้านบาท
สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด – 19 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันทะลุ 10,000 คน – 20,000 คน คนกลุ่มนี้เมื่อรักษาหายแล้วก็มายื่นเคลมประกัน ดันตัวเลขยื่นเคลมค่าสินไหมกับบริษัทประกันสูงขึ้นเป็นท่าทวีคูณ จากเดิมยอดเคลมของบริษัทประกันขนาดใหญ่ยื่นเคลมวันละ 100 – 200 ราย แต่ในเดือน ส.ค. ยอดเคลมสูงขึ้นวันละ 1,000 – 2,000 ราย ส่วนบริษัทประกันขนาดกลางและเล็ก จากเดิมยื่นเคลมวันละ 10-20 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 100 – 200 ราย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เกิดการเคลมไม่ทันเกิดยอดสะสม จนเกิดปัญหาล่าช้าตามมา อย่างไรก็ตาม ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวสร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันภัยยังมีความมั่นคง ไม่มีการขาดสภาพคล่อง จากการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ร่วมกันบริษัทประกันภัย ในหลายสถานการณความรุนแรงที่จะเกิดผลกระทบขึ้นนั้น ยังไม่พบความเสี่ยงในเชิงระบบแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจมีบางบริษัทประกันภัยที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง ทางสำนักงาน คปภ. ได้เข้าไปดูแลผ่อนปรนมาตรการกำกับดูแลต่างๆ ใกล้ชิด
สถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นผลพวงมาจากการขายประกันมากเกินไป จนส่งผลต่อระบบการเคลมที่เกิดความล่าช้า เนื่องด้วยแต่ละบริษัทประกันไม่คาดคิดว่ายอดเคลมจะสูงวันละ 1,000 – 2,000 รายต่อวัน จนระบบรองรับงานไม่ทันและเกิดเป็นยอดสะสม
ทำให้ภาพเหตุการณ์ประชาชนผู้เอาประกันภัยนับร้อยคน เดินทางมาทวงถามเงินค่าสินไหมจากการติดเชื้อโควิด 19 กับ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำประกันแบบเจอจ่ายจบไว้ แต่ยังไม่ได้รับเงินค่าสินไหม เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
แน่นอนว่าทุกบริษัทเผชิญสถานการณ์ไม่ต่างกัน นับเป็นบทเรียนสำคัญของธุรกิจบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คปภ. กำกับดูแลใกล้ชิด ออกมาตรการสั่งปรับบริษัทประกัน หากประวิงการจ่ายค่าสินไหม โดยปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท
อย่างไรก็ดี บริษัทประกันหลายเจ้าดำเนินการปรับปรุงระบบการเคลมใหม่ มีการนำระบบเทคโนโลยี การเพิ่มเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะสามารถรองรับให้บริการเคลมได้รวดเร็วขึ้น ตั้งเป้าภายในเดือนกันยายนจะสามารถจ่ายเคลมให้ลูกค้าได้ และหากเป็นผู้เอาประกันที่มีเอกสารครบถ้วนก็จะสามารถจ่ายค่าเคลมได้ภายใน 15 วัน คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติภายในเดือน ต.ค.
“ตอนนี้บริษัทประกันขาดทุนจากรับประกันโควิดจริง ขาดทุนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประกันที่ขายออกไป แต่เชื่อว่ารอบนี้จะไม่มีบริษัทปิดตัว หากเงินกองทุนไม่พอ คปภ. สามารถผ่อนผันให้ เมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ก็เพิ่มเงินกองทุน แต่หากต้องปิดตัวจริงๆ ก็ยังมีเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย นำมาจ่ายให้กับผู้เอาประกันทุกราย” นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าว
โดยทาง คปภ. ได้เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกัน ให้บริการแบบครบวงจร One Stop Service ซึ่งสถิติการร้องเรียนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ย. 2564 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,145 เรื่อง และประเด็นเรื่องร้องเรียนที่พบมากสุด คือ บริษัทประกันภัยยังไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ ทั้งนี้ หากมาได้รับความเป็นธรรมเรื่องประกันภัย ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ.1186 หรือ Add Line Official @oicconnect หรือ website คปภ. www.oic.or.th พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเร่งด่วนคุมเข้มบริษัทประกัน ดังนี้
1. เร่งดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีบริษัทกระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ ในวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 และหากพบว่าบริษัทประกันภัยแห่งใด จงใจฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ก็จะยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ
2. ให้บริษัทฯ เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 ให้แล้วเสร็จ โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้เกี่ยวข้องของบริษัทฯ มาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนในแต่ละกรณีเพื่อให้สามารถยุติเรื่องร้องเรียนโดยเร็ว
3. ให้บริษัทฯ ปรับปรุงหน่วยงานรองรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนและเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิด-19 โดยเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัย และให้นำระบบออนไลน์มาใช้ในการบริหารจัดการการรับเรื่องร้องเรียนและการติดตามความคืบหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาที่บริษัทฯ รวมทั้งลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้เอาประกันภัย
4. ให้บริษัทฯ เร่งปรับปรุงและเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เอาประกันภัยให้ถูกต้องและชัดเจน
สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2564 อาจต้องเผชิญการขาดทุนจากรับประกันโควิด-19 อย่างไรก็ดี คปภ. พร้อมดูแลผู้เอากรมธรรม์ให้ได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ รวมถึงได้ปรับเงื่อนไขความคุ้มครองช่วยเหลือผู้ติดเชื้อให้ได้ประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุดนอกจากนี้ ทางบริษัทประกันวินาศภัยได้เตรียมความพร้อมเพื่อจ่ายเคลมสินไหมประกันโควิด-19 กำลังพิจารณาขายทรัพย์สิน หุ้น พันธบัตร รวมถึงเพิ่มทุน เพื่อระดมเงินสดให้เพียงพอไว้รองรับการจ่ายเคลมประกันภัยโควิด-19 ให้ทันเวลาไม่ให้มีความล่าช้า ซึ่งตามปกติบริษัทประกันจะสำรองเงินสดไว้บางส่วนเท่านั้น และส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตลาดหุ้น พันธบัตร หรือสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน แต่หากช่วงใดมีความจำเป็นต้องใช้เงินสด เช่น ในสถานการณ์โควิดที่ต้องจ่ายเคลมสูง บริษัทเหล่านี้จะแปลงสินทรัพย์มาเป็นเงินสด หรือบางบริษัทไม่ต้องการขายสินทรัพย์ก็จะเลือกใช้วิธีเพิ่มทุน
สถานการณ์ในช่วง 2 – 3 เดือนที่่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูง ยอดเคลมประกันสูงต่อเนื่อง มากกว่าช่วงปกติถึง 10 เท่า ดังนั้นต้องบริษัทประกันต้องหาเงินสดสำรองไว้จ่ายเคลมอีก 3,000 – 4,000 ล้านบาท เพื่อรองรับจ่ายค่าเคลมให้ผู้เอาประกันได้ทันเวลา
สำหรับการเร่งระดมเงินสดให้เพียงพอสำหรับจ่ายค่าเคลมไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือแสดงว่าบริษัทประกันจะมีปัญหาการเงิน โดยสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย ครึ่งแรกปี 2564 มีสินทรัพย์ลงทุนรวมทั้งสิ้น 3.34 แสนล้านบาท แบ่งสัดส่วน เงินฝาก 29.30% หุ้น 23.90% หุ้นกู้ 15.82% กองทุน 6.62% และอื่นๆ
แม้ธุรกิจประกันฯ เลือก “ล็อกความเสี่ยง” ยกเลิกขายประกันแบบ “เจอ จ่าย จบ” ไปแล้ว แต่ในฟากของประชาชนในฐานะผู้เอาประกันยังคงเผชิญสถานการณ์ “เจอ ไม่จ่าย ไม่จบ” จากการจ่ายสินไหมที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า
อย่างไรก็ตาม ชัดเจนว่าปี 2564 ธุรกิจประกันวินาศภัยพลิกกลับมาขาดทุนจากยอดเคลมประกันโควิดที่สูงขึ้นไปตามๆ กัน แต่ทว่าจำนวนคนที่ซื้อประกันโควิด-19 นั้นก็ยังคงมีอยู่มากเช่นกัน ทั้งนี้หากใครที่ต้องการ ซื้อประกันโควิด-19 เพื่อความอุ่นใจ สามารถ คลิกที่นี่ เพื่อซื้อประกันโควิดกับ masii ได้ง่ายๆ
ข้อมูลจาก : mgronline.com
สนใจสมัครประกันโควิด-19
และสำหรับใครที่ต้องการซื้อประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น ประกันแพ้วัคซีนโควิด-19 ประกันสุขภาพ ประกันภัยโดรน ประกันเดินทาง ซื้อประกันภัยรถยนต์ ประกันมอเตอร์ไซค์ สามารถติดต่อมาได้เลยที่ 02 710 3100 และอย่าลืมแอดไลน์ @masii (มี @ ด้วยนะ) เพื่อติดตามข่าวสาร โปรโมชั่น ที่น่าสนใจจากมาสิ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถแลกเงิน สินเชื่อเงินสด และอื่นๆ อีกมากมาย